ไฟล์วอลล์ และการเข้ารหัส

ไฟล์วอลล์ และการเข้ารหัส

 
Firewall คืออะไร
Firewall นั้นหากจะแปลตรงตัวจะแปลว่ากำแพงไฟ แต่ที่จริงแล้ว firewall นั้นเป็นกำแพงที่มีไว้เพื่อป้องกันไฟโดยที่ตัวมันเองนั้นไม่ใช่ไฟตามดังคำแปล firewall ในสิ่งปลูกสร้างต่างๆนั้นจะทำด้วยอิฐเพื่อแยกส่วนต่างๆของสิ่งปลูกสร้างออกจากกันเพื่อที่ว่าในเวลาไฟไหม้ไฟจะได้ไม่ลามไปทั่วสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ หรือ Firewall ในรถยนต์ก็จะเป็นแผ่นโลหะใช้แยกส่วนของเครื่องยนต์และส่วนของที่นั่งของผู้โดยสารออกจากกัน
ในเครือข่าย Internet นั้น firewall อาจถูกใช้สำหรับป้องกันไม่ให้ "ไฟ" จากเครือข่าย Internet ภายนอกลามเข้ามาภายในเครือข่าย LAN ส่วนตัวของท่านได้ หรืออาจถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ใน LAN ของท่านออกไปโดน "ไฟ" ในเครือข่าย Internet ภายนอกได้
ตามคำจำกัดความแล้ว firewall หมายความถึง ระบบหนึ่งหรือกลุ่มของระบบที่บังคับใช้นโยบายการควบคุมการเข้าถึงของระหว่างเครือข่ายสองเครือข่าย โดยที่วิธีการกระทำนั้นก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ระบบ แต่โดยหลักการแล้วเราสามารถมอง firewall ได้ว่าประกอบด้วยกลไกสองส่วนโดยส่วนแรกมีหน้าที่ในการกั้น traffic และส่วนที่สองมีหน้าที่ในการปล่อย traffic ให้ผ่านไปได้
ประเภทของ Firewall
Firewall โดยทั่วไปจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ firewall ระดับ network (network level firewall) และ firewall ระดับ application (application level firewall)
ก่อนที่ Firewall ระดับ network จะตัดสินใจยอมให้ traffic ใดผ่านนั้นจะดูที่ address ผู้ส่งและผู้รับ และ port ในแต่ละ IP packet เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า traffic สามารถผ่านไปได้ก็จะ route traffic ผ่านตัวมันไปโดยตรง router โดยทั่วไปแล้วก็จะถือว่าเป็น firewall ระดับ network ชนิดหนึ่ง firewall ประเภทนี้จะมีความเร็วสูงและจะ transparent ต่อผู้ใช้ (คือผู้ใช้มองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างระบบที่ไม่มี firewall กับระบบที่มี firewall ระดับ network อยู่) การที่จะใช้ firewall ประเภทนี้โดยมากผู้ใช้จะต้องมี IP block (ของจริง) ของตนเอง
Firewall ระดับ application นั้นโดยทั่วไปก็คือ host ที่ run proxy server อยู่ firewall ประเภทนี้สามารถให้รายงานการ audit ได้อย่างละเอียดและสามารถบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยได้มากกว่า firewall ระดับ network แต่ firewall ประเภทนี้ก็จะมีความ transparent น้อยกว่า firewall ระดับ network โดยที่ผู้ใช้จะต้องตั้งเครื่องของตนให้ใช้กับ firewall ประเภทนี้ได้ นอกจากนี้ firewall ประเภทนี้จะมีความเร็วน้อยกว่า firewall ระดับ network บางแหล่งจะกล่าวถึง firewall ประเภทที่สามคือประเภท stateful inspection filtering ซึ่งใช้การพิจารณาเนื้อหาของ packets ก่อนๆในการที่จะตัดสินใจให้ packet ที่กำลังพิจารณาอยู่เข้ามา
ขีดความสามารถของ Firewall 
ขีดความสามารถของ firewall ทั่วๆไปนั้นมีดังต่อไปนี้

• ป้องกันการ login ที่ไม่ได้รับอนุญาตที่มาจากภายนอกเครือข่าย 
• ปิดกั้นไม่ให้ traffic จากนอกเครือข่ายเข้ามาภายในเครือข่ายแต่ก็ยอมให้ผู้ที่อยู่ภายในเครือข่ายสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ 
• เป็นจุดรวมสำหรับการรักษาความปลอดภัยและการทำ audit (เปรียบเสมือนจุดรับแรงกระแทกหรือ "choke" ของเครือข่าย)

ข้อมจำกัดของ Firewall 
ข้อจำกัดของ firewall มีดังต่อไปนี้

• firewall ไม่สามารถป้องกันการโจมตีที่ไม่ได้กระทำผ่าน firewall (เช่น การโจมตีจากภายในเครือข่ายเอง) 
• ไม่สามารถป้องกันการโจมตีที่เข้ามากับ application protocols ต่างๆ (เรียกว่าการ tunneling) หรือกับโปรแกรม client ที่มีความล่อแหลมและถูกดัดแปลงให้กระทำการโจมตีได้ (โปรแกรมที่ถูกทำให้เป็น Trojan horse) 
• ไม่สามารถป้องกัน virus ได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากจำนวน virus มีอยู่มากมาย จึงจะเป็นการยากมากที่ firewall จะสามารถตรวจจับ pattern ของ virus ทั้งหมดได้

ถึงแม้ว่า firewall จะเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ป้องกันการโจมตีจากภายนอกเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่จะใช้ firewall ให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้นจะขึ้นอยู่กับนโยบายความปลอดภัยโดยรวมขององค์กรด้วย นอกจากนี้ แม้แต่ firewall ที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนการมีจิตสำนึกในการที่จะรักษาความปลอดภัยภายในเครือข่ายของผู้ที่อยู่ในเครือข่ายนั้นเอง

การเข้ารหัส


ระบบการเข้ารหัสนั้น โดยทั่วไปจะมีการพิจารณาใน 3 มุมมองด้วยกัน คือ
1. รูปแบบของการกระทำที่ใช้ในการแปลงจาก Plaintext ไปเป็น Ciphertext ในอัลกอริทึมของการเข้ารหัสทุกรูปแบบมักจะตั้งอยู่บนหลักการ 2 หลักด้วยกัน คือ การแทนที่ (Substitution) และการสลับที่ (Transposition) โดยหลักการแทนที่นั้น จะใช้วิธีแทนส่วนประกอบของ Plaintext (บิต กลุ่มของบิต หรือไบต์ หรือตัวอักษร) ด้วยส่วนประกอบอีกกลุ่มหนึ่ง และวิธีการสลับที่นั้น จะเป็นการจัดลำดับของบิต กลุ่มของบิต หรือไบต์ หรือตัวอักษร ใหม่ให้มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยในระหว่างกระบวนการทำนั้น จะต้องไม่มีข้อความ หรือส่วนใด ๆ ของข้อความที่หายไป (เพื่อให้กระบวนการย้อนกลับสามารถทำได้)
2. จำนวนของคีย์ที่ใช้ โดยหากทั้งผู้รับและผู้ส่งมีการใช้คีย์เดียวกัน ก็จะเรียกวิธีการเข้ารหัสนั้นว่า Symmetric Key หรือ Secret Key หรือ Single Key หรือ Conventional Encryption แต่หากผู้รับและผู้ส่งใช้คีย์ที่ต่างกัน ก็จะเรียกว่า Asymmetric Key หรือ Two Key หรือ Public Key
3. ลักษณะที่อัลกอริทึมกระทำกับข้อความต้นฉบับ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Block Cipher โดยวิธีการนี้ คือ การแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วน ๆ ที่มีความยาวเท่ากัน แล้วจึงประมวลผลข้อมูลไปทีละ Block โดยจะได้ผลลัพธ์เป็น Block เช่นเดียวกัน สำหรับอีกแบบ คือ Stream Cipher ซึ่งมีการประมวลผลไปทีละกลุ่ม (อาจเป็นบิต ไบต์ หรือกลุ่มของบิต) โดยผลลัพธ์ก็จะออกมาในทำนองเดียวกัน
การแกะรหัส (Cryptanalysis)
ในระบบของการเข้ารหัสใด ๆ จะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแกะรหัสที่ได้เข้าไว้ออกมา ว่ามีความยากหรือง่ายแค่ไหน ก่อนจะนำไปใช้งาน โดยการแกะรหัสก็เช่นเดียวกับการเข้ารหัส คือ มีหลายวิธี โดยขึ้นกับรูปแบบของการเข้ารหัสว่าเป็นแบบใด และมีข้อมูลให้ใช้มากน้อยแค่ไหน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความปลอดภัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์